วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เรื่องที่ 10 พุทธมงคล 38 ประการ



พุทธมงคล 38 ประการ

  • ผู้ใดปรารถนาจะมีชีวิตพร้อมไปด้วยมงคล 38 ประการ ท่านให้ปฎิบัติดังนี้

มงคลที่1
  • อเสวนา จ พาลานํ  - ไม่คบคนพาล

มงคลที่2
  • ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา - คบหาสมาคมแต่นักปราชญ์

มงคลที่ 3
  • ปูชา จ ปูชนียานํ - บูชาคนที่ควรบูชา

มงคลที่ 4
  • ปฎิรูปเทสวาโส จ - อยู่ในประเทศอันสมควร

มงคลที่ 5
  • ปุพฺเพ จ กตปุณฺญตา - เคยเป็นผู้ที่มีความดีสร้างไว้แต่ปางก่อน

มงคลที่ 6
  • อตฺตสมฺมาปณิธิ - ตั้งตนอยู่ในฐานะที่ชอบที่ควร

มงคลที่ 7
  • พาหุสจฺจญฺจ - เป็นได้ยินได้ฟังมามาก

มงคลที่ 8
  1. สิปฺปญิจ - ศึกษาทางศิลปวิทยามาด้วย

มงคลที่ 9
  • วินโย จ สุสิกฺขิโต - เป็นคนเคารพระเบียบวินัย กฎหมายบ้านเมือง

มงคลที่ 10
  • สุภาสิตา จ ยา วาจา - กล่าวแต่คำที่เป็นสุภาษิต

มงคลที่ 11
  • มาตา ปิตุอุปฎฺบานํ - บำรุงเลี้ยงพ่อแม่ให้ดี

มงคลที่ 12,13
  • ปุตฺตทารสสฺส สงฺคโห - สงเคราะห์ลูกเมียตามหน้าที่

มงคลที่ 14
  • อนากุลา จ กมฺมนฺตา - ทำงานโดยไม่คั่งค้าง

มงคลที่ 15
  • ทานญฺจ - ให้ทานกับผู้ที่ควรให้

มงคลที่ 16
  • ธมฺมจริยา จ - ประพฤติตามหลักธรรม

มงคลที่ 17
  • ญาตกานญฺจ สงฺคโห - สงเคราะห์เครือญาติตามสมควร

มงคลที่ 18
  • อนวชฺชา กมฺมานิ - ทำงานสุจริตไม่ผิดศีลธรรม

มงคลที่ 19
  • อารตี วรตี ปาปา - ไม่กระทำความชั่วเลย

มงคลที่ 20
  • มชฺชปานา จ สญฺญโฒ - สำรวมในการดื่มเครื่องดองของเมา

มงคลที่ 21
  • อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ - ไม่ประมาทในหลักธรรมทั้งหลาย

มงคลที่ 22
  • คารโว จ - มีความเคารพ

มงคลที่ 23
  • นิวาโต จ - ความไม่จองหองใคร

มงคลที่ 24
  • สนฺตฎฐี จ - มีความยินดีในทรัพย์สินของตน

มงคลที่ 25
  • กตญฺญตา - รู้จักบุญคุณผู้เคยเกื้อกูล

มงคลที่ 26
  • กาเลน ธมฺมสฺสวนํ - ฟังธรรมตามกาลที่มีโอกาส

มงคลที่ 27
  • ขนฺติ จ - มีความอดทน

มงคลที่ 28
  • โสจสฺสตา - ทำตนเป็นคนว่านอนสอนง่าย

มงคลที่ 29
  • สมณานญฺจ ทสฺสนํ - พบปะสมณชีพราหมณ์เสมอ

มงคลที่ 30
  • กาเลน ธมฺมสากจฺฉา - หาเวลาเจรจาธรรมกับคนทั่วไป

มงคลที่ 31
  • ตโป จ - บำเพ็ญเพียรเพื่อให้กิเลสเบาบาง

มงคลที่ 32
  • พรหฺมจริยญฺจ - ประพฤติตนตามหลักธรรมอันประเสริฐ

มงคลที่ 33
  • อริยสจฺจาน ทสฺสนํ - เห็นหลักธรรมตามที่เป็นจริงอันสูง

มงคลที่ 34
  • นิพฺพานสจฉิกิริยา จ - มองเห็นทางดับกิเลสขั้นสุดยอดได้

มงคลที่ 35
  • ผุฎฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ - ไม่มีจิตหวั่นไหวไปตามโลกธรรม 8

มงคลที่ 36
  • อโสกํ - มีจิตไม่โศรกเศร้า

มงคลที่ 37
  • วริชํ - มีจิตใจปราศจากกิเลสธุลี

มงคลที่ 38
  • เขมํ - มีจิตเกษมสำราญ

เรื่องที่ 9 เบญจขันธ์


เบญจขันธ์

  • พุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่าง ๆที่ มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่าง ๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมดก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ตัวอย่างง่าย ๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อย ๆ คือ "รถ" 
  • เมื่อนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกว่า "รถ" แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลายซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนปะกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า "รถ" 
  • สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่าง ๆ นั้นเองก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อย ๆ ต่อ ๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน 
  • เมื่อจะพูดว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่าง ๆ มาประชุมเข้าด้วยกันเมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของกรประชุมส่วนประกอบนี้ 
  • พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต 
  • โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุและจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และมักแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจการแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้น ๆ
  • แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตรโดยวิธิแบ่งแบบขันธ์ ๕ พุทธธรรมแยกแยะชีวิต พร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมดที่บัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ฯลฯ ออกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ๕ ประเภท หรือ ๕ หมวด เรียกทางธรรมว่า เบญจขันธ์ คือ

รูป 
  • ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารและพลังงานเหล่านั้น
เวทนา 
  • ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ
สัญญา 
  • ได้แก่ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษระต่าง ๆ อันเป็นเกตุให้จำอารมณ์นั้น ๆ ได้
สังขาร 
  • ได้แก่องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิดมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่าง ๆ เป็นที่มาของกรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นต้น เรียกรวมอย่างง่าย ๆ ว่าเครื่องปรุงของความคิดหรือเครื่องปรุงของกรรม
วิญญาณ 
  • ได้แก่ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่นการรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจขันธ์ ๔ ข้อหลัง ซึ่งเป็นพวกนามขันธ์ มีข้อควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อเห็นความหมายชัดเจนยิ่งขึ้นและเพื่อป้องกันความสับสน ดังนี้
สัญญา 
  • เป็นความรู้จำพวกหนึ่ง หมายถึง การหมายรู้ หรือกำหนดรู้อาการของอารมณ์ เช่น ลักษณะ ทรวดทรง สี สัณฐาน ฯลฯ ตลอดจนชื่อเรียก และสมมติบัญญัติต่าง ๆ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เป็นต้นการหมายรู้หรือกำหนดนั้น อาศัยการจับเผชิญ หรือ การเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้เก่ากับประสบการหรือความรู้ใหม่ 
  • ถ้าประสบการใหม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เช่นพบเห็นคนหรือสิ่งของที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียงที่เคยได้ยินแล้วถ้าประสบการใหม่ไม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เราย่อมนำเอาประสบการณ์หรือความรูเก่าที่มีอยู่แล้วนั้นเองมาเทียบเคียงว่าเหมือนกันและไม่เหมือนกันในส่วนไหน อย่างไร แล้วหมายรู้สิ่งนั้นตามคำบอกเล่าหรือตามที่ตนกำหนดเอาว่าเป็นนั่น เป็นนี่ ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นี่ อย่างนี้เรียกว่า กำหนดหมายหรือหมายรู้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป 
  • ขอแยกสัญญาออกอย่างคร่าว ๆ เป็น ๒ ระดับ คือ
    • สัญญาระดับสามัญ ซึ่งกำหนดหมายอาการของอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปอยู่ตามปกติธรรมดาของมันอย่างหนึ่ง
    • สัญญาสืบทอด หรือสัญญาอย่างซับซ้อน ที่บางคราวก็ใช้คำเรียกให้ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่ง ปปัญจสัญญา อันหมายถึงสัญญาเนื่องด้วยอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งขึ้นให้ซับซ้อนพิสดารด้วยแรงผลักดันของตัณหามานะและทิฏฐิซึ่งเป็นสังขารชั้นนำในฝ่ายร้ายอีกอย่างหนึ่งการแยกเช่นนั้จะช่วยให้มองเห็นความหมายของสัญญาที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสัญญากับขันธ์อื่นภายในกระบวนธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
วิญญาณ
  • แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้นหรือความรู้ที่เป็นตัวยืนเป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่น ๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้น และความรู้ตาม ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือเป็นความรู้เริ่มแรก เมื่อเห็น ได้ยิน เป็นต้น(เกิดวิญญาณขึ้น) จึงจะรู้สึกชื่นใจ หรือบีบคั้นใจ(เวทนา) จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่(สัญญา)จึงจะจำนงตอบและคิดปรุงแต่งไปต่าง ๆ (สังขาร)เช่น เห็นท้องฟ้า(วิญญาณ) รู้สึกสบายตาชื่นใจ(เวทนา) หมายรู้ว่า ท้องฟ้า สีคราม สดใส ฟ้าสาย ฟ้าบ่าย ฟ้าสวย(สัญญา)

เวทนา
  • แปลกันว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสของอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็เฉย ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกัยเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนกับสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ กล่าวคือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์ ดังจะเห็นได้ในลำดับกระบวนธรรม

สังขาร
  • หมายรวมทั้งเครื่องแต่งคุณภาพของจิต หรือเครื่องปรุงของจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำและกระบวนการแห่งเจตน์จำนงที่ชักจูง เลือกรวบรามเอาเครื่องแต่งคุณภาพเหล่านั้นมาประสบปรุงแต่งความนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ

สัญญา - สติ - ความจำ
  • มักมีความเข้าใจสับสนกันในเรื่องความจำว่าตรงกับธรรมข้อใด คำว่าสัญญา ก็มักแปลกันว่า ความจำ คำว่า สติ โดยทั่วไปแปลว่าความระลึกได้ บางครั้งก็แปลว่าความจำ 
  • และมีตัวอย่างที่เด่นเช่นพระอานนท์ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางทรงจำพุทธพจน์ คำบาลีในกรณีนี้ท่านใช้คำว่าสติ ดังพุทธพจน์ว่า 
  • "อานนท์เป็นเลิศกว่าประดาสาวกของเราผู้มีสติ" เรื่องนี้ในทางธรรมไม่มีความสับสนความไม่ใช่กิจของธรรมข้อเดียว แต่เป็นกิจกรรมของกระบวนธรรม และในกระบวนธรรมแห่งความจำนี้ 
  • สัญญาและสติเป็นองค์ธรรมใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลัก มีบทบาทสำคัญที่สุดสัญญาก็ดี มีความหมายคาบเกี่ยวและเหลื่อมกันกับความจำ 
  • กล่าวคือ ส่วนหนึ่งของสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของความจำอีกส่วนหนึ่งของสัญญาอยุ่นอกเหนือความหมายของความจำ แม้สติก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของสติเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสติ อยู่นอกเหนือความหมายอของกระบวนการทรงจำ ข้อที่พึงกำหนดหมายและระลึกไว้อย่าง สำคัญคือ สัญญาและสติทำหน้าที่คนละอย่างในกระบวนการทรงจำ

สัญญา - วิญญาณ - ปัญญา
  • สัญญา วิญญาณ ปัญญา เป็นเรื่องของความรู้ทั้ง ๓ อย่าง แต่เป็นองค์ธรรมต่างข้อกัน และอยู่คนละขันธ์ สัญญา เป็นขันธ์หนึ่ง วิญญาณเป็นขันธ์หนึ่ง ปัญญาอยู่ในสังขารก็อีกขันธ์หนึ่ง สัญญาและวิญญาณได้พูดมาแล้วพอเป็นพื้นความเข้าใจ 
  • ปัญญา แปลกันมาว่า ความรอบรู้ เติมเข้าไปอีกว่า ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด คือ รู้ทั่วถึงความจริงหรือตรงตามความเป็นจริง ท่านอธิบายขยายความกันออกไปต่าง ๆ กัน เช่นว่า รู้เหตุรู้ผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด ควรไม่ควร รู้คุณรู้โทษ รู้ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้เท่าทันสังขาร รู้องค์ประกอบ รู้เหตุรู้ปัจจัย รู้ที่ไปที่มา เป็นต้น 
  • ปัญญาตรงข้ามกับโมหะ ซึ่งแปลว่าความหลง ความไม่รู้ ความเข้าใจผิด สัญญาและวิญญาณหาตรงข้ามกับโมหะไม่ อาจกลายเป็นเหยื่อของโมหะไปด้วยซ้ำ เพราะเมื่อหลง เข้าใจผิดไปอย่างใดก็รับรู้และกำหนดหมายเอาไว้ผิด ๆ อย่างนั้น 
  • ปัญญาช่วยแก้ไขให้วิญญาณและสัญญาเดินถูกทาง สัญญา และวิญญาณ อาศักอารมณ์ที่ปรากฏอยู่จึงทำงานไปได้ สร้างภาพเห็นภาพขึ้นไปจากอารมณ์นั้น 
  • แต่ปัญญาฝ่ายจำนงต่ออารมณ์ ริเริ่มกระทำต่ออารมณ์ เชื่อมโยงอารมณ์นั้นกับอารมณ์นี้กับอารมณ์โน้นบ้าง พิเคราะห์ส่วนนั้นกับส่วนนี้กับส่วนโน้นของอารมณ์บ้างเอาสัญญาอย่างโน้นอย่างนี้มาเชื่อมโยงกันหรือพิเคราะห็ออกไปบ้าง มองเห็นเหตุ เห็นผล เห็นความสัมพันธ์ ตลอดถึงว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรหาเรื่องมาให้วิญญาณและสัญญารับรู้และกำหนดหมายเอาไว้อีก

เรื่องที่ 8 เบญจศีล เบญจธรรม


เบญจศีล เบญจธรรม

  • ในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นที่แต่ละคน ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมจะต้องทำตนให้เป็นคนเต็มคน ที่เรียกว่าเป็นมนุษย์ หรือเป็นคน 100% เพื่อให้การอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีความสงบสุข หลักธรรมที่จะทำคนให้เป็นให้เต็มคนอันยังผลให้การอยู่ร่วมกันมีความสุขมีความสงบสุขนั้นก็คือ เบญจศีลเบญจธรรม อันได้แก่
เว้นจากการฆ่า
  • การเบียดเบียน การทำร้ายร่างกายคนและสัตว์ แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดี และสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสัตว์อื่น
เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร
  • อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน แล้วเป็นผู้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม 
  • บุคคลต้องห้ามสำหรับฝ่ายชาย คือ
    • (๑) ภรรยาคนอื่น
    • (๒) ผู้หญิงที่ยังอยู่ในความอุปการะของผู้อื่น (ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่)
    • (๓) ผู้หญิงที่จารีตต้องห้าม (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ชี หญิงผู้เยาว์
  • บุคคลที่ต้องห้ามสำหรับฝ่ายหญิง คือ
    • (๑) สามีคนอื่น
    • (๒)ชายจารีตต้องห้าม (พ่อ ปู่ ตา พี่ชาย น้องชาย ลูกชาย พระภิกษุสามเณร ชายผู้เยาว์ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่ใช่เฉพาะ ห้ามแต่ร่วมสังวาสเท่านั้น แม้แต่การเคล้าคลึง การพูดเกี้ยวพาราสี หรือการแสดงอาการ ปฏิพัทธ์แม้แต่ด้วยสายตาเนตรสบเนตร เป็นต้น ก็ชื่อว่า การละเมิดศีลข้อนี้แล้ว เมื่อไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้แล้วเป็นผู้สำสวมในกามยินดีแต่ในภรรยาของตนเท่านั้น (สทารสันโดษ) จงรักภักดีแต่ในสามีของตน (ปติวัตร) ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องมีกามสังวร ตั้งตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีวัฒนธรรมอันดีชนิดที่ว่า "เข้าตามตรอกออกตามประตู"
เว้นจากการพูดเท็จ
  • อันได้แก่ คำปด ทวนสาบาน ทำเล่ห์กระเท่ห์ มารยา ทำกิเลส เสริมความสำรวมคำพูดเสียดแทง สับปลับ ผิดสัญยา เสียสัตย์ และคืนคำ แล้ว เป็นผู้รักสัจจะจะพูดแต่คำสัตย์จริงด้วยความจริงใจและปรารถนาดี มุ่งหวังดีต่อผู้ฟัง
เว้นจากการดื่มน้ำชั่วอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
  • อันได้แก่ น้ำสุราเมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่นๆและการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า หรือแม้แต่บุรี่ แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในการประกอบกิจการทั้งปวง และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตในการงาน ในวัย ในเพศ
  • ผู้จะเป็นคนเต็มคน คือ 100% จะต้องเป็นผู้มีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ประกอบด้วยเบญจศีลเบญจธรรมทั้ง ๕ ประเด็นดังกล่าวแล้ว ถ้าขาด ๑ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๘๐ % หรือขาด ๒ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๖๐ %  
  • นับว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน มุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นมนุษย์อันจะได้เป็นสมาชิกที่ของสังคม ความสงบสุขในสังคมแต่ละวันจะเกิดขึ้นได้ก็อาศัยหลักมนุษยธรรม หรือ แต่ละคนเป็นคนเต็มคนนั่นเอง

เรื่องที่ 7 สัปปุริสธรรม



สัปปุริสธรรม

  •       ในความหมายของพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นผู้ประกอบด้วยหลักธรรม ๗ ประการ ดังนี้
  • ๑.ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าการทำความดีเป็นเหตุแห่งความสุข ความขยันเป็นเหตุแห่งความสำเร็จ ความเกียจคร้านเป็นเหตุแห่งความล้มเหลว การทำความชั่วเป็นความทุกข์ เป็นต้นและรู้ว่าเมื่อเกิดมีผลขึ้นมาแล้วมันจะต้องมีเหตุ ไม่ใช่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีเหตุเลย เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดผลดี อะไรเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว แล้วพยายามหลีกเลี่ยง หรือละเหตุที่จะให้เกิดผลชั่ว แล้วหันมาทำแต่เหตุที่จะให้เกิดผลดี
  • ๒.อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่าความสุข เป็นผลแห่งการทำความดี ทุกข์เป็นผลแห่งการทำความชั่ว สอบไล่ได้เป็นผลแห่งความขยันความตั้งใจเรียน สอบไล่ตกก็ทราบว่านั่นเป็นผลแห่งความเกียจคร้น ความไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น แล้วพยายามแสวงหาแต่ผลดีโดยการทำเหตุที่ดี
  • ๓.อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ต้องรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เรามีชาติ มีเพศ มีตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ความสามารถ กำลัง ความถนัด และคุณธรรม แค่ไหน เพียงไร แล้วต้องประพฤติตนให้สมกับภาวะนั้นๆ และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
  • ๔.มัตตญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีเช่นในการแสวงหาเครื่องยังชีพก็ต้องแสวงหาในทางที่ชอบธรรม ไม่โลภมากเกินไปเมื่อหามาได้แล้วก็ต้องรู้จักประมาณในการใช้จ่ายด้วย ด้องไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไปนัก และต้องไม่ฝืดเคืองจนเกินไปด้วย
  • ๕.กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสมและระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจกระทำหน้าที่การงานต่างๆ  เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะแก่เวลา เป็นต้น ถ้าผิดพลาดในเรื่องกาลเวลาดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้รับผลสำเร็จแล้ว ยังอาจจะได้รับผลเดือดร้อนในภายหลังอีกด้วย เช่น การไปสอบไม่ทันเวลา เป็นต้น
  • ๖.ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบริษัท ประชุมชน และสังคม ว่าสังคมใดควรที่จะเข้าไปร่วมด้วย สังคมใดควรหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล รวมทั้งรู้กิริยาที่ประพฤติต่อชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ ว่า เมื่อเข้าสังคมนี้จะต้องประพฤติตัววางตัวอย่างใด จะต้องพูดอย่างไร ต้องรู้มารยาทในสังคมนั้นๆ จะได้ไม่เคอะเขินเวลาสู่ที่ประชุมชน คือ ต้องทำตัวเข้ากับสังคมได้โดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
  • ๗.ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล ว่า บุคคลนี้เป็นคนดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น เพราะในสังคมทั่วๆไปย่อมมีทั้งคนดีคนชั่วด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องรู้จักเลือกคบคน เพราะการคบคนดีย่อมเป็นศรีแก่ตน คบคนชั่วจะพาตัวให้บรรลัย รวมทั้งรู้ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลที่จะสนทนากับบุคคลด้วยดีว่าจะใช้ถ้อยคำ จะตำหนิ ยกย่อง หรือแนะนำพร่ำสอนอย่างไรจึงจะได้ผลดี เป็นต้น
  • ในชีวิตประจำวันนั้น ถ้าใครมีคุณธรรมของมนุษย์ที่แท้ ๗ ประการ และสามารถประพฤติได้อย่างถูกต้องตามหลักการเหล่านี้โดยสมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็น "สัตบุรุษ" หรือ "คนดีแท้" หรือ "มนุษย์โดยสมบูรณ์" 
  • การกระทำหรือพฤติกรรมของเขาย่อมเหมาะสมถูกต้องปราศจากความผิดพลาด นำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยส่วนรวมคนดีแท้อยู่ในสังคมใดย่อมเอื้ออำนวยประโยชน์สันติสุขแก่สังคมนั้นผู้ประสงค์จะให้การดพเนินชีวิตประจำวันไปโดยราบรื่นเรียบร้อย เป็นสุขช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้ จะต้องมีคุณธรรมของมนุษย์โดยสมบูร์ดังกล่าว.

เรื่องที่ 6 ทิศ ๖



ทิศ ๖

  • ในการอยู่ในสังคมนั้นยังมีบุคคลประเภทต่างๆ อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา เปรียบเหมือนทิศต่างๆ ที่จะต้องรู้และประพฤติตัวให้ถูกต้องและเหมาะสมกับบุคคลประเภทนั้นๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี มีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน ต่างก็มีกตัญญูกตเวทิตธรรมต่อกนและกัน อันจะช่วยให้สังคมเกิดการประสานร่วมมือสามัคคีกัน เป็นปึกแผ่นแน่นหนามีความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาและสันติสุข นั่นคือ ทุกคนต้องรู้จักทิศต่างๆ ทั้ง ๖ รวมทั้งร็หน้าที่ของตนที่จะพึงปฏิบัติต่อทิศนั้นๆ แล้วปฏิบัติด้วยความจริงใจและจริงจัง กล่าวคือ
ทิศเบื้องหน้า : ได้แก่ บิดามารดา
  • บุตรพึงปฏิบัติต่อท่าน ดังนี้
    •   ๑.ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ
    •   ๒.ช่วยกิจของท่าน
    •   ๓.ดำรงวงศ์ตระกูล
    •   ๔.ประพฤติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก
    •   ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
  • บิดามารดา ย่อมอนุเคราะห์ตอบบุตร ดังนี้
    •   ๑. ห้ามมิให้ทำความชั่ว
    •   ๒.ให้ตั้งอยู่ในความดี
    •   ๓.ให้ศึกษาศิลปวิทยา
    •   ๔.หาภรรยาสามีที่สมควรให้
    •   ๕.มอบทรัพย์ให้ในสมัย
ทิศเบื้องขวา : ครู อาจารย์
  • ศิษย์พึงปฏิบัติต่อท่าน ดังนี้
    •   ๑.ด้วยลุกขึ้นยืนรับ
    •   ๒.ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้
    •   ๓.ด้วยเชื่อฟัง
    •   ๔.ด้วยอุปัฏฐาก
    •   ๕.ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
  • ครู อาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ตอบ ดังนี้
    •   ๑. แนะนำดี
    •   ๒.ให้เรียนดี
    •   ๓.บอกศิลปให้สิ้นเชิง
    •   ๔.ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อนฝูง
    •   ๕.ทำความป้องกันทิศทั้งหลายจะไปทิศทางไหนก็ไม่อดอยาก
ทิศเบื้องหลัง : บุตรภรรยา
  • สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาดังนี้
  •      ๑.ด้วยการยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
  •      ๒.ด้วยไม่ดูหมิ่น
  •      ๓.ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ
  •      ๔.ด้วยมอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
  •      ๕.ด้วยให้เครื่องแต่งตัว
  • ภรรยาย่อมอนุเคราะห์ตอบสามี ดังนี้
  •     ๑.จัดการงานดี
  •     ๒.สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี
  •     ๓.ไม่ประพฤตินอกใจสามี
  •     ๔.รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้
  •     ๕.ขยันไม่เกียจคร้านกิจการทั้งปวง
ทิศเบื้องซ้าย : มิตรสหาย
  • มิตรพึงปฏิบัติต่อมิตร ดังนี้
    •   ๑.ด้วยให้ปันสิ่งของ
    •   ๒.ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ
    •   ๓.ด้วยประพฤติประโยชน์
    •   ๔.ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ (เสมอต้นเสมอปลาย)
    •   ๕.ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง
  • มิตรย่อมอนุเคราะห์มิตรตอบ ดังนี้
    •    ๑.รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว
    •    ๒.รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
    •    ๓.เมื่อมีภัยเอาเป็นที่พึ่งพำนักได้
    •    ๔.ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ (ยามฉิบหาย)
    •    ๕.นับถือตลอดวงศ์ของมิตร
ทิศเบื้องต่ำ : บ่าว/ลูกจ้าง
  • นายพึงปฏิบัติต่อบ่าว/ลูกจ้างดังนี้
    •   ๑.ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
    •   ๒.ด้วยให้อาหารและรางวัล
    •   ๓.ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้
    •   ๔.ด้วยแจกของมีรสแปลกๆดีๆให้กิน
    •   ๕.ด้วยปล่อยให้สมัย(ให้สนุกรื่นเริงเป็นครั้งเป็นคราวตามสมควรแก่โอกาส
  • บ่าว/ลูกจ้างย่อมอนุเคราะห์ตอบนาย ดังนี้
    •   ๑.ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย
    •   ๒.เลิกการงานหลังนาย
    •   ๓.ถือเอาแต่ของที่นายให้
    •   ๔.ทำการงานให้ดีขึ้น
    •   ๕.นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่ต่างๆ
ทิศเบื้องบน: สมณพราหมณ์
  • เราพึงปฏิบัติต่อท่าน ดังนี้
    •    ๑.ด้วยกายกรรม คือ ทำอะไรๆประกอบด้วยเมตตา
    •    ๒.ด้วยวจีกรรม คือ ทำอะไรๆประกอบด้วยเมตตา
    •    ๓.ด้วยมโนกรรม คือทำอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา
    •    ๔.ด้วยเป็ฯผู้ไม่ปิดบังเขา คือ มิได้ห้ามไม่ให้เข้าบ้านเรือน
    •    ๕.ด้วยให้อามิสทาน (สิ่งของ)
  • สมณพราหมณ์ ย่อมอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้
    •    ๑.ห้ามมิให้กระทำชั่ว
    •    ๒.ให้ตั้งอยู่ในความดี
    •    ๓.อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
    •    ๔.ให้ได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
    •    ๕.ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
    •    ๖.บอกทางสวรรค์ให้

เรื่องที่ 5 อริยมรรค ๘


อริยมรรค ๘

  • ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ที่เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นั้นได้แก่ อริยมรรค ซึ่งแปลว่า มรรค หรือ หนทางอันประเสริฐ มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ 
  • ความเห็นชอบ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดี ได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บิดามารดามีพระคุณ เห็นว่า บุญมี บาปมี เห็นหรือเข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิต เช่น เห็นไตรลักษณ์ เห็นปฏิจจสมุปบาท รู้เห็นปัญหาชีวิตเรื่องความทุกข์ต่างๆสามเหตุเกิดของปัญหาชีวิต อุดมการณ์ของชีวิต และแนวทางสำหรับปฏิบัติเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์นั้น ข้อสังเกตในที่นี้ก็คือว่า การจะบรรลุอุดมการณ์อันสูงส่งของชีวิตที่เรียกว่า นิโรธ หรือ นิพพาน นั้นต้องมีความเห็นถูกต้องตามแนวที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ปฏิบัติมาแล้ว มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดๆ ในชีวิตไป
  • อนึ่งคำว่า "เห็น" ในสัมมาทิฏฐินี้ หมายถึง เห็นด้วยใจ ใจเห็น ไม่ใช่ตาเห็น ที่แท้จริงคือ รู้หรือเห็นนั่นเอง ความเห็นนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการที่จะลงมือปฏิบัติหรือกระทำอะไรลงไป ก็มักจะเป็นไปตามที่เห็นที่รู้หรือเข้าใจ ถ้าเห็นชอบก็จะทำให้เกิดการปฏิบัติที่ชอบที่ถูกที่ควร แต่ถ้าเห็นผิดเสียแล้วก็จะทำให้การกระทำต่างๆพลอยผิดพลาดไปด้วย เพราะฉะนั้นความเห็นชอบมีความรู้ที่ถูกต้องที่ชอบ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงจัดไว้เป็นอันดับแรก เป็นเรื่องของปัญญาของญาณสำหรับผู้ที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาแบบพ้นทุกข์ จะต้องเข้าถึงแบบผู้มีปัญญาหรือญาณ หรือ สัมมาทิฏฐินั่นเอง
๒. สัมมาสังกัปปะ
  • ความดำริชอบ หมายถึง ความคิดชอบ ความคิดถูกต้อง หรือความตรึกตรองไปในทางที่ดี มีความหมาย ๓ อย่าง คือ
    • (๑) อวิหิงสาสังกัปปะ ความดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือ ไม่คิดที่จะทำให้ใครได้รับความเดือดร้อน ทั้งทางกาย วาจา ใจ แต่มีเมตตากรุณาต่อสัตว์อื่นต่อคนอื่น
    • (๒)อัพยาปาทสังกัปปะ ความคิดดำริในอันไม่ผูกพยาบาทป้องร้ายผู้อื่น คือ ไม่คิดอาฆาตมาดร้าย ปองร้ายใคร ๆหรือจองเวรกับใครๆ แต่พยายามกำจัดหรือบรรเทาความโกรธ ความอิจฉาตาร้อนอยู่เสมอ
    • (๓)เนกขัมมสังกัปปะ ความคิดดำริในอันจะปลดเปลื้องความเกี่ยวข้องในทางกาม คือ มุ่งไปสู่ความสงบ อาจจะไม่ถึงกับต้องออกบวชเป็นพระนุ่งห่มผ้าเหลือง แต่หมายถึงการตั้งใจปลีกใจออกจากความเพลิดเพลินในกามารมณ์ จะเรียกว่า “บวชใจ” ก็ได้ คฤหัสถ์บางคนสามารถบำเพ็ญมรรคให้บริบูรณ์แล้วบรรลุอรหันต์ได้ก็มี
  • ข้อปฏิบัติสัมมาสังกัปปะนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มุ่งบรรลุนิพพานหรือคุณธรรมขั้นสูงนั้น จะต้องเป็นผู้มีใจไม่อาฆาตมาดร้ายใคร นั่นคือ มีใจสงบและมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีความดำริชอบดังกล่าวก็เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็ไม่สงบได้ง่ายๆ เลย เพราะอาจจะตกเป็นทาสของความรัก ความชัง และความหลงผิด
๓. สัมมาวาจา
  • การเจรจาหรือวาจาชอบ เป็นทางปฏิบัติที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง อันหมายถึง การสำรวมระวังในการพูดไม่ให้ผิด ให้พูดแต่วจีสุจริต กล่าวคือ
    • (๑)ไม่พูดคำเท็จทำให้ผู้อื่นเสียหาย พูดแต่คำสัตย์คำจริง พร้อมกับจริงใจในการพูด
    • (๒)ไม่พูดส่อเสียดให้คนอื่นเข้าใจผิดทะเลาะเบาะแว้งกัน แตกความสามัคคี พูดแต่คำที่จะเสริมสร้าง ความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เน้นความประนีประนอม ความรัก ความสามัคคีเป็นสำคัญ
    • (๓)ไม่พูดคำหยาบ ไร้วัฒนธรรมให้เกิดความเสียหายกับอายกับผู้อื่น พูดแต่คำที่ไพเราะอ่อนหวานมีวัฒนธรรมในการพูด ใช้คำพูดเหมาะสมกับผู้ฟัง
    • (๔)ไม่พูดเพ้อเจ้อที่เรียกว่าพูดพล่าม หรือพูดจาเหลวไหลไร้สาระประโยชน์ พูดแต่คำที่ถูกต้องประกอบด้วยสาระประโยชน์เหมาะสมกับกาลเทศะมุ่งประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญการดำเนินชีวิตด้วยสัมมาวาจามีแต่ก่อให้เกิดความเข้าใจกัน ไว้วางใจกัน และมีจิตใจสงบ สัมมาวาจาจึงจำเป็นในการรักษาใจไม่ให้ว้าวุ่นเดือดร้อน
๔. สัมมากัมมันตะ
  • การงานชอบหรือการกระทำที่ชอบ หมายถึง การประพฤติชอบทางกายที่เรียกว่า กายสุจริต ๓ อย่าง คือ
    • (๑) เว้นจากความโหดเหี้ยม ฆ่า ทำร้าย หรือทรมานร่างกายผู้อื่นสัตว์อื่นให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดีและสงสารผู้อื่นสัตว์อื่น
    • (๒)เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน แล้วเป็นผู้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น
    • (๓) เว้นจากการประพฤติผิดในกาม 
      • บุคคลต้องห้ามสำหรับฝ่ายชายคือ
        • (๑) ภรรยาคนอื่น
        • (๒) ผู้หญิงที่ยังอยู่ในความอุปการะของผู้อื่น (ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่)
        • (๓) ผู้หญิงที่จารีตต้องห้าม (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ชี หญิงผู้เยาว์
      • บุคคลที่ต้องห้ามสำหรับฝ่ายหญิงคือ
        • (๑) สามีคนอื่น
        • (๒)ชายจารีตต้องห้าม (พ่อ ปู่ ตา พี่ชาย น้องชาย ลูกชาย พระภิกษุสามเณร ชายผู้เยาว์
  • ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่ใช่เฉพาะ ห้ามแต่ร่วมสังวาสเท่านั้น แม้แต่การเคล้าคลึง การพูดเกี้ยวพาราสี หรือการแสดงอาการ ปฏิพัทธ์แม้แต่ด้วยสายตาเนตรสบเนตร เป็นต้น ก็ชื่อว่า การละเมิดศีลข้อนี้แล้ว 
  • เมื่อไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้แล้วเป็นผู้สำรวมในกามยินดีแต่ในภรรยาของตนเท่านั้น (สทารสันโดษ) จงรักภักดีแต่ในสามีของตน (ปติวัตร) ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องมีกามสังวร ตั้งตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีวัฒนะธรรมอันดีชนิดที่ว่า "เข้าตามตรอกออกตามประตู"
  • ผู้มีกายสุจริตทั้ง ๓ อย่างดังกล่าวนี้ เป็นผู้มีการกระทำที่ชอบ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่เบีบดเบียนตนเองและผู้อื่น นับว่าเป็นผู้ได้ปฏิบัติตามหนทางแห่งความพ้นทุกข์ข้อที่ ๔ (สัมมากัมมันตะ)
๕. สัมมาอาชีวะ
  • การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึงการเลี้ยงชีพโดยสุจริต เป็นอาชีพที่สุจริตไม่เป็นอาชีพที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรืออาชีพที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและศีลธรรมอันดีงาม หรือมีอาชีพที่ถูกต้องเป็นสัมมาชีพ แต่ตัวเองก็จะต้องไม่ประพฤติทุจริตในอาชีพนั้น เช่น ประกอบอาชีพรับราชการที่ไม่ทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ หรือทำธุรกิจค้าขายก็ไม่ค้ากำไรเกินควร หรือการหากินชนิด “ทำนาบนหลังคน” อาชีพนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการยังชีพให้ยืนต่อไป ถ้าเป็นมิจฉาอาชีวะก็หมายถึง ความไม่บริสุทธิ์ในการดำรงชีพ ก็จะเป็นอุปสรรคในการบรรลุคุณธรรมชั้นสูง โดยเฉพราะถ้าเป็นการค้าขายแล้วจะต้องเว้นจากการขายสินค้าต่อไปนี้คือ
    • (๑)ค้าขายเครื่องประหารที่ทำลายกันโดยส่วนเดียว เช่น ระเบิด อาวุธต่างๆที่ใช้ทำร้าซึ่งกันและกัน
    • (๒)ค้าขายมนุษย์เพื่อไปเป็นทาสรับใช้ผู้อื่น หรือหลอกลวงหญิงสาวไปขายเพื่อให้เป็นโสเภณี เป็นต้น
    • (๓) ค้าขายเนื้อสัตว์ อันหมายถึง การเลี้ยงสัตว์ต่างๆเพื่อฆ่าแล้วนำเนื้อไปขาย จะเป็น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ก็ตามผู้ต้องการจะพ้นทุกข์หรือปฏิบัติตามอริยมรรคควรจะต้องเว้น
    • (๔) ค้าขายสุราน้ำเมาและยาเสพติดทุกชนิด ซึ่งทำให้ผู้เสพมัวเมาหลงไหลขาดสติสัมปชัญญะพาตัวชั่วหายนะต่างๆ หรือทำให้ผู้เสพทำลายสุขภาพและเป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นการทำลายสังคม และประเทศชาติ นำความหายนะมาให้โดยส่วนเดียว
    • (๕) ค้าขายยาพิษ หรือสารพิษต่างๆซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายมนุษย์และสัตว์ ถือเป็นการค้าขายที่ผิดศีลธรรม
  • การค้าขายสินค้าต่างๆทั้ง ๕ นี้เป็นการค้าขายที่ผิด เรียกว่า มิจฉาวณิชชา ๕ เป็นการค้าขายที่ผู้เป็นอุบาสกอุบาสิกา หรือผู้ปฏิบัติตามทางที่จะนำไปสู๋ความดับทุกข์จะต้องงดเว้นโดยเด็ดขาด
๖. สัมมาวายามะ
  • ความเพียรชอบ ความเพียรนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานทุกอย่าง ยิ่งเป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิตแล้วก็ยิ่งจำเป็นมาก บุคคลจะล่วงทุกได้ก็เพราะความเพียร ความเพียรพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ความเพียรทำให้งานที่ทำด้วยกายหรือใจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ถ้าขาดความเพียรแล้วก็มีแต่ถอยหลังปละประสบกับความล้มเหลวในที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องมีความเพียร แต่ความเพียรนั้นจะต้องเป็นความเพียรที่ชอบ ตัวอย่างความเพียรที่ชอบในที่นี้ หมายถึงความเพียร ๔ อย่าง คือ
    • (๑)สังวรปธาน เพียรระวังมิให้ความชั่วที่เป็นบาปอกุศล เช่นความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นในสันดานแห่งตน หมายความว่าเพียรป้องกันอย่าให้ความชั่วร้ายใหม่เกิดขึ้นอีก
    • (๒) ปหานปธาน เพียรพยายามละความชั่วร้ายที่เป็นบาปอกุศลซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วให้หมดสิ้นไป หรือ พยายามกำจัดปัดเป่าความชั่วหรือความรู้สึกไม่ดีให้ออกจากจิตให้ได้
    • (๓) ภาวนาปธาน เพียรพยายามก่อสร้างความดีที่เป็นบุญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ตัวอย่างให้ทานเสมอๆอยู่แล้วก็พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วก็พยายามเจริญสมาธิภาวนาในขั้นสูง ๆ ขึ้นไป
    • (๔) อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาคุณความดีที่เป็นบุญกุศลที่ได้ทำแล้วที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อมหรือลดน้อยถอยลง พยายามรักษาเอาไว้อย่างมันคงเหมือนเกลือรักษาความเค็ม โดยการทำความดีเช่นนั้นเสมอ ๆ เป็นอาจิณหรือเป็นนิสัย
  • รวมความว่า พยายามระวัง - กำจัดความชั่ว และพยายามทำ –รักษาความดี
๗. สัมมาสติ
  • ความระลึกชอบ หมายถึง การสำรวมใจ หรือทำใจให้สงบตามแนวสติปัฏฐาน (ที่ตั้งแห่งจิต) ทั้ง ๔ เป็นการพิจารณาให้รู้เห็นเนื่องๆ เพื่อมิให้เกิดความยึดมั่นถือมันในร่างกาย ความรู้สึก จิตใจและธรรม ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศล กล่าวคือ
    • (๑) ตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณาเห็นกายในกาย ที่ว่าเห้นกายในกาย คือ พิจารณาเห็นเรื่องต่างๆในร่างกาย เช่น ลมหายใจ อิริยาบถ การเคลื่อนไหล ตลอดจนส่วนต่างๆของร่างกาย (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ฯลฯ) และความเกิดดับของร่างกาย ให้เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงสักแต่ว่ากาย เรียกว่า กายานุปัสสนา (เห็นกายในกาย)
    • (๒) ตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ที่ว่าเห็นเวทนาในเวทนา คือ พิจารณากำหนดรู้เรื่องของเวทนา ความสุข ความทุกข์ และความไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาเกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร ดับไปอย่างไร เวทนานั้นมีอามิสหรือหาไม่ ได้เห็นว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนา เรียกว่า เวทนานุปัสสนา (เห็นเวทนาในเวทนา)
    • (๓) ตั้งสติระลึกชอบเห็นจิตในจิต ที่ว่าเห็นจิตในจิต หมายความถึงการกำหนดรู้พฤติการณ์ของจิตของตนอย่างละเอียด จิตรักก็รู้ว่าจิตรัก จิตโกรธก็รู้ว่าจิตโกรธ จิตลุ่มหลงก็รู้ว่าจิตลุ่มหลง จิตหดหู่ ฟุ้งซ่าน ฯลฯ จิตไหวตัวอย่างไรก็รู้เท่าทัน ไม่ว่าจะเศร้าหมองหรือผองแผ้วให้เห็ฯความจริงว่า “สักว่าจิต” หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกว่า จิตตานุปัสสนา (เห็นจิตในจิต)
    • (๔) ตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณษเห็นธรรมในธรรม ที่เห็นว่าเห็นธรรมในธรรม คล้ายๆกับเห็นจิตในจิต แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว คือ การเห็นจิตในจิตได้แก่ ร็ทันความเคลื่อนไหวของจิต ส่วนการเห็นธรรมในธรรม ได้แก่ การรู้สิ่งที่มีอยู๋ในจิต เช่น จิตมีนิวรณ์ ( กามฉันทะ พยาบาทถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และ วิจิกิจฉา ) ก็รู้เรื่องของนิวรณ์นั้นว่า นิวรณ์เกิดขึ้นในจิต มีอยู่ในจิต ดับไปจากจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ก็ให้เห็นความจริงว่าเป็นเพียงสักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาเรียกว่า ธัมมานุปัสสนา (เห็นธรรมในธรรม) สติปัฏฐานนี้เอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "เป็นทางเอกหรือทางเดียว เพราะเป็นทางปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามให้พ้นซึ่งความโศกหรือ ปริเทวนาการ เพื่อบรรลุญาณและเพื่อทำพระนิพพานให้ให้ปรากฏแจ้ง"
๘.สัมมาสมาธิ
  • ความตั้งใจชอบ ความตั้งใจชอบเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ด่านสุดท้ายที่จะเผด็จศึกกับกิเลส นับว่าเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญมาก เพราะธรรมชาติของใจย่อมร็กันดีว่า มีสภาพกลับกลอกวอกแวกอยู่เสมอ เพราะความฟุ้งซ่านยากที่จะรักษาได้ จึงจำเป็นที่ผู้หวังความพ้นทุกข์จะต้องฝึกหัด ดัดใจให้เป็นสมาธิ มีจิตใจแน่วแน่ อยู่ในอารมณ์ใดอารามหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านเป็น เอกัคคตา มีอารมณ์เดียวจนเกิดความตั้งมั่นแห่งจิตใจขึ้น สัมมาสมาธในที่นี้ ก็หมายเอาความตั้งใจชอบโดยการเข้าสมาธิชนิดที่เป็นอัปปนาสมาธิ คือ สมาธิแน่วแน่สมบูรณ์เต็มที่ (ไม่ใช่สมาธิชั่วขณะ หรือสมาธิเฉียดๆ) เป็นสมาธิที่ปราศจากนิวรณ์โดยสิ้นเชิง เป็นสมาธิระดับฌาน (ความเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ) 
  • การเข้าสมาธิจนถึงระดับฌานนั้นจะยึดเอาอะไรมาเป็นอารมณ์เพื่อเป็นหลักในการทำสมาธิก็ได้ ในวิสุทธิมรรคเล่มที่ ๒ สมาธนิเทศ ท่านได้กล่าวถึง อารมณ์ของกรรมฐานไว้ ๔๐ อย่าง เช่น กสิณ ๑๐ มี น้ำ ลม สีแดง เป็นต้น อสุภะ ๑๐ เช่น ส่วนต่างๆของซากศพที่เน่า เป็นต้น อนุสติ ๑๐ เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และความตาย เป็นต้น
ระดับฌาน ๔ นั้น คือ รูปฌาน ๔ ได้แก่
    • (๑) ปฐมฌาน (ฌานขั้นแรก) มีองค์ ๕ คือ วิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ปีติ สุข และ เอกัคคตา (ความที่จิตมีอารมณ์เดียว)
    • (๒) ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
    • (๓) ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
    • (๔) จตุตถฌาน(ฌานที่ ๔) มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา (ความวางเฉย) และเอกัคคตา
  • คนที่ทำจิตให้แน่วแน่จนถึงจตุตถฌานแล้ว เรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติสามารถพิจารณษสังขารด้วยวิปัสสนาปัญญา ก็สามารถตัดกิเลสให้สิ้นไปได้ และถ้าจะทำจิตใจให้เป็นสมาธิยิ่งกว่านี้ก็ออกจากจตุตถฌานนั้นแล้วเข้าสู่ อรูปฌาน อีก ๔ ชั้น คือ
    • ชั้น อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
    • ชั้นวิญญาณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
    • ชั้น อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆเป็นอารมณ์)
    • ชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ(กำหนดภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่เป็นอารมณ์)
    • เลยขึ้นไปกว่านั้นอีกชั้นหนึ่ง คือ
    • สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
  • ซึ่งผู้เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธนี้จะหมดความรู้สึกทางกาย เป็นอันที่สุดในการทำจิตให้เป็นสมาธิ ในชั้น สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ จิตไม่มีสัญญาและเวทนา มีแต่ธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง
  • อริยมรรค หรือทางอันประเสริฐ ที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ จนถึงข้อปฏิบัติประการสุดท้ายคือ สัมมาสมาธิ ดังกล่าวแล้วว่าเป็นทางดำเนินไปเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางหรืออุดมการณ์อันสูงส่งของชีวิต นั่นคือพระนิพพาน
  • อนึ่ง อริยมรรคซึ่งมีองค์ประกอบ ๘ประการดังกล่าว สามารถย่อให้สั้น ลงในไตรสิกขา(ข้อควรศึกษา ๓) คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ แต่ว่าในขั้ขแรกได้เรียงข้อปฏิบัติฝ่ายปัญญาไว้กาอน เป็นการแสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่พุทธศาสนาในแบบพ้นทุกข์ ให้ใช้หลักปัญญาเป็นหัวหน้าเป็นหลักการนำทาง ดังนี้
    • ๑. สัมมาทิฏฐิ
    • ๒. สัมมาสังกัปปะ
    • ๓.สัมมาวาจา
    • ๔.สัมมากัมมันตะ  
    • ๕.สัมมาอาชีวะ
    • ๖.สัมมาวายามะ
    • ๗.สัมมาสติ 
    • ๘.สัมมาสมาธิ
  • ถ้าเปรียบก็เหมือนพระพุทธศาสนา คือ ประเทศไทย สิกขา ๓ ก็เหมือนกับการแบ่งเขตปกครองออกเป็น ๓ ภาค มรรคก็เหมือนจังหวัดต่างๆ ที่ขึ้นกับภาคนั้นๆ มรรค ๘ หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา 
  • ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั้น เมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นปัญญาข้อเดียวทำหน้าที่เป็นแสงสว่างภายในอันจะทำให้เข้าใจแจ่มแจ้งในปัญหาชีวิตและปัญหาที่ลึกซึ้งทั้งปวง หรือกับทำหน้าที่แก้ปัญหาชีวิต คือ ดับทุกข์ได้ 
  • กล่าวคือ ทั้ง ๘ ประการนั้นเมื่อปฏิบัติให้สมบูรณ์ ก็จะกลมกลืนกัน หรือหลอมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า “มรรคสมังคี” 
  • ร่วมกันทำหน้าที่เป็นแสงสว่างกำจัดความมืด คือ ต้นเหตุแห่งความทุกข์ คือ ความทะยานอยากเสียได้ แล้วก็จะทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสตัณหา ดังพระพุทธพจน์ที่ ว่า "ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ – คนจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา"–(ขุ,สุ.)

เรื่องที่ 4 ไตรลักษณ์


ไตรลักษณ์

  • เป็นกฎสำคัญแห่งธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ
    • ๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยง
    • ๒. ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้
    • ๓. อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน
  • ตามหลักพุทธธรรมเบื้องต้นที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบต่าง ๆ มาประชุมกันเข้า หรือมีอยู่ในรูป ของการรวมตัวเข้าด้วยกันของส่วนประกอบต่าง ๆ นั้น มิใช่หมายความว่าเป็นการนำเอาส่วนประกอบที่เป็นชิ้น ๆ อัน ๆ อยู่แล้วมาประกอบเข้าด้วยกัน 
  • และเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วก็เกิดเป็นรูปเป็นร่าง คุมกันอยู่เหมือนเมื่อเอาวัตถุต่าง ๆ มาราวม กันเป็นเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ 
  • ความจริงที่กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากการประชุมกันของส่วนประกอบต่าง ๆ นั้น เป็นเพียงคำกล่าวเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ในเบื้องต้นเท่านั้น 
  • แท้จริงแล้วสิ่งทั้งหลายมีอยู่ในรูปของกระแส ส่วนประกอบแต่ละอย่าง ๆ ล้วนประกอบขึ้นจากส่วนประกอบอื่น ๆ ย่อยลงไป แต่ละอย่างไม่มีตัวตนของมันอิสระ ล้วนเกิดดับต่อกันไปเรื่อย ไม่เที่ยงไม่คงที่ 
  • กระแสนี้ไหลเวียนหรือดำเนินต่อไปอย่างที่ดูคล้ายกับรักษารูปแนวและลักษณะทั่วไปไว้ได้อย่างค่อยเป็นไป ก็เพราะส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์ เนื่องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันอย่างหนึ่ง 
  • และเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างล้วนไม่มีตัวตนของมันเอง และไม่เที่ยงแท้คงที่อย่างหนึ่งความเป็นไปต่างๆ ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามธรรมชาติอาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายเอง 
  • ไม่มีตัวการอย่างอื่นที่นอกเหนือออกไปในฐานะผู้สร้างหรือผู้บันดาล จึงเรียกเพื่อเข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นกฎธรรมชาติ 
  • มีหลักธรรมใหญ่อยู่ ๒ หมวด ที่ถือได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ คือ  ไตรลักษณ์แลปฏิจจสมุปบาท 
  • ความจริงธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ถือได้ว่าเป็นกฎเดียวกัน แต่แสดงในคนละแง่หรือคนละแนว เพื่อมองเห็นความจริงอย่างเดียวกัน คือ ไตรลักษณ์ 
  • มุ่งแสดงลักษณะของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นอย่างนั้น ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นไป่โดยอาการที่สัมพันธ์เนื่องอาศัย เป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันตามหลักปฏิจจสมุปบาท 
  • ส่วนหลักปฏิจจสมุปบาทก็มุ่งแสดงถึงอาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กันเป็นกระแส จนมองเห็นลักษณ์ได้ว่าเป็นไตรลักษณ์
  • กฎธรรมชาตินี้ เป็น ธรรมธาตุ คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมฐิติ คือภาวะที่ตั้งอยู่ หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติ หรือกำหนดแห่งธรรมดาไม่เกี่ยวกับผู้สร้างผู้บันดาล หรือการเกิดขึ้นของศาสนาหรือศาสดาใด ๆ 
  • กฎธรรมชาตินั้แสดงฐานะของศาสดาในความหมายของพุทธธรรมด้วยว่าเป็นผู้ค้นพบกฎเหล่านั้แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลกไตรลักษณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงหลักไว้ในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้ "ตถาคต ทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ นั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า
    • ๑. สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง
    • ๒. สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์
    • ๓. ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา
  • ตถาคตตรัสรู้เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า " 
  • สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ .ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา 
  • ไตรลักษณ์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณ์ แปลว่าลักษณะที่ทั่วไป หรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวงซึ่งได้ความหมายเท่ากัน
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
  • ถ้ายกเอาหลักธรรมนิยามที่แสดงไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณธ ๓ อย่าง มาตั้งเป็นหัวข้ออีกครั้งหนึ่งเพื่ออธิบายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป ตามแนวหลักวิชาที่มีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ ดังนี้
    • ก. สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง
    • ข. สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์
    • ค. ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา
  • สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เรียกตามคำบาลีว่า เป็น อนิจจ์ หรือ อนิจจะ แต่ในภาษาไทยนิยมใช้คำว่า อนิจจังความไม่เที่ยง ความเป็นสิ่งไม่เที่ยง หรือภาวะที่เป็นอนิจจ์รหืออนิจจัง นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า อนิจจตา ลักษณะที่แสดงถึงความไม่เที่ยงเรียกเป็นศัพท์ว่า อนิจจลักษณะ
  • สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ในภาษาไทย บางที่ใช้อย่างภาษาพูดว่า ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ความเป็นของคงทนอยู่มิได้ ความเป็นสภาวะมีความบีบคั้นขัดแย้ง หรือภาวะที่เป็นทุกข์นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า ทุกขตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นทุกข์เรียกเป็นศัพท์ว่า ทุกขลักษณะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน หรือภาวะที่เป็นอนัตตานั้นเรียกเป็นคำศักพท์ตามบาลีว่า อนัตตตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอนัตตา เรียกเป็นคำศัพท์ว่า อนัตตลักษณะ
สังขารทั้งปวงกับธรรมทั้งปวง
  • "ธรรม" เป็นคำที่มีควมหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี ตลอดกระทั่งความไม่มีที่เป็นคู่กับความมีนั้น 
  • ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึงทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น 
  • ถ้าจะให้มีความหมายแคบเข้า หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเขาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้นก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิม 
  • แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้น ๆ ในกรณีนั้นหรือในความแวดล้อมอย่างนั้น ๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้น ๆ 
  • เช่น เมื่อมาคู่กับอธรรมหรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึงปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน เป็นต้น 
  • ธรรม ที่กล่าวถึงในหลักอนัตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดจำกัด 
  • ธรรม ในความหมายเช่นนี้จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมือแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรมบ้าง โลกียธรรม และโลกุตตรธรรมบ้าง สังขตธรรมและอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรมและอกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมบ้าง 
  • ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุดสังขตธรรม และอสังขตธรรม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงแยกประเภทได้เป็น ๒ อย่างคือ
  • ๑. สังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งปลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้นสิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้าหรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขารซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกันหมายถึงสภาวะทุกอย่างทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ทั้งที่ดีที่ชั่วและที่เป็นกลาง ๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน
  • ๒. อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขารหรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน
สังขารในขันธ์ ๕ กับสังขารในไตรลักษณ์
          ๑. สังขารในขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
          ๒. สังขารในไตรลักษณ์ ได้แก่ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

เปรียบเทียบความหมายทั้ง ๒ นัยดังนี้
          ก. สังขาร ซึ่งเป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต ให้ดี ให้ชั่ว ให้เป็นกลาง ได้แก่ คุณสมบัติต่างๆของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำที่ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจและการแสดงออกทางกายวาจาให้เป็นไปต่าง ๆ เป็นตัวการของการทำกรรม เรียกง่าย ๆ ว่า เครื่องปรุงของจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ เป็นต้น

         ข. สังขาร ที่กล่าวถึงในปตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง คือ สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัย ปรุงแต่งขึ้นทุกอย่าง ประดามี ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม เป็นด้านร่างกายหรือจิตใจก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม อยู่ในจิตใจหรือวัตถุภายนอกก็ตาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขตธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นนิพพานจะเห็นว่า สังขาร ในขันธ์ ๕ มีความหมายแคบกว่า สังขาร ในไตรลักษณ์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในไตรลักษณ์นั่นเอง ความต่างกันและแคบกว่ากันนี้ เห็นได้ชัดทั้งโดยความหมายของศัพท์และโดยองค์ธรรม
  • สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ทั้งที่ความเป็นอนิจจัง ทุกข์ และอนัตตา นี้ เป็นลักษณะสามัญของสิ่งทั้งหลาย เป็นความจริงที่แสดงตัวของมันเองอยู่ตามธรรมดาตลอดทุกเวลา แต่คนทั่วไปก็มองไม่เห็น ทั้งนี้เพราะเป็นเหมือนมีสิ่งปิดบังคอยซ่อนคลุมนี้ คือ
            ๑. สันตติ บังอนิจจลักษณะ
            ๒. อิริยาบถ บังทุกขลักษณะ
            ๓. ฆนะ บังอนัตตลักษณะ
  • ข้อที่ ๑ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความเกิดและความดับหรือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปก็ถูก   สันตติ คือ ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปิดบังไว้ อนิจจลักษณะจึงไม่ปรากฏ
  • ข้อที่ ๒ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความบีบคั้นกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา ก็ถูก อิริยาบถ คือ ความยักย้ายเคลื่อนไหว ปิดบังไว้ ทุกขลักษณะจึงไม่ปรากฏ
  • ข้อที่ ๓ ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความแยกย่อยออกเป็นธาตุต่าง ๆ ก็ถูก ฆนะ คือความเป็นแท่งเป็นก้อนเป็นชิ้นเป็นอันเป็นมวลหรือเป็นหน่วยรวม ปิดบังไว้ อนัตตลักษณจึงไม่ปรากฏ
ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องไตรลักษณ์
        ๑. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องอนิจจัง เมื่อได้เรียนรู้ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะได้ประโยชน์หลายประการ ดังนี้
    • ก. ความไม่ประมาท ทำให้คนไม่ประมาทมัวเมาในวัยว่ายังหนุ่มสาว ในความไม่มีโรคและในชีวิต เพราะความตายอาจมาถึงเมื่อไรก็ได้ไม่แน่นอน ทำให้ไม่ประมาทในทรัพย์สิน เพราะคนมีทรัพย์อาจกลับเป็นคนจนได้ ทำให้ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะผู้ที่ไร้ทรัพย์ ไร้ยศ ต่ำต้อย กว่าภายหน้าอาจมีทรัพย์ มียศ และเจริญรุ่งเรืองกว่าก็ได้เมือคิดได้ดังนี้จะทำให้สำรวมตน อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ยโสโอหัง วางท่าใหญ่ ยกตนข่มท่าน
    • ข. ทำให้เกิดความพยายาม เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า เพราะรู้ว่าถ้าเราพยายามก้าวไปข้างหน้าแล้วชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
    • ค. ความไม่เที่ยงแท้ ทำให้รู้สภาพการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เมื่อประสบกัยสิ่งไม่พอใจ ก็ไม่สิ้นหวังและเป็นทุกข์ ไม่ปล่อยตนไปตามเหตุการณ์นั้น ๆ จนเกินไป พยายามหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี

         ๒. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องทุกขัง เมื่อผู้ใดได้เรียนรู้เรื่องความทุกแล้ว จะรู้ว่า ความทุกข์เป็นของธรรมดาประจำโลก อย่างหนึ่งซึ่งใคร ๆ จะหลีกเลี่ยงได้ยาก ต่างกันก็แต่เพียงรูปแบบของทุกข์นั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแก่ชีวิต ผู้มีปัญญาตรองเห็นความจริงว่าความทุกข์เป็นสัจจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต ชีวิตย่อมระคนด้วยทุกข์เป็นธรรมดา เมื่อเห็นเป็นธรรมดา ความยึดมั่นก็มีน้อย ความทุกข์สามารถลดลงได้หรืออาจหายไปเพราะไม่มีความยึดมั่น ความสุขที่เกิดจากการ
ปล่อยวางย่อมเป็นสุขอันบริสุทธิ์ 

๓. ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องอนัตตา
  • การเรียนรู้เรื่องอนัตตา ทำให้เรารู้คามจริงของสิ่งทั้งปวง ไม่ต้องถูกหลอกลวง จะทำให้คลาย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทำให้ไม่ยึดมั่น เบากาย เบาใจ เพราะเรื่องอนัตตาสอนให้เรารู้ว่า สังขารทั้งปวง เป็นไปเพื่ออาพาธ ฝืนความปรารถนา บังคับบัญชาไม่ได้อย่างน้อยที่สุดเราจะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ตัวเราเองจะต้องพบกับธรรมชาติแห่งความเจ็บปวด ความแก่ชรา และความตายจากครอบครัวและญาติพี่น้องตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่าง
อริยสัจ ๔ ประการ ได้แก่
            ๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ที่ชื่อว่าทุกข์เพราะทนได้ยาก
            ๒. สมุทัย เหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา คือความทะยานอยาก
            ๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ดับตัณหาให้สิ้นเชิง
            ๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่อริยมรรค ๘ ประการ
  • อริยสัจ ๔ ประการนี้ เป็นหลักคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้อย่างชัดแจ้งในธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดปัญจักวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันนี้เรียกว่า "สารนาถ" ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ 
  • ที่เราเรียกวันนี้ว่า "อาสาฬหบูชา" พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปฐมเทศนา" คือ การเทศกัณฑ์แรกของพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้ว ปฐมเทศนามีหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกอย่างสมบูรณ์ คำว่า "สัจจะ" แปลว่า ความจริง มี ๔ ประการ คือ
          ๑. สมมุติสัจ ความจริงโดยการสมมุติ คือความจริที่ไม่เป็นจริง เพียงแต่เราสมมุติขึ้นเท่านั้น
          ๒. สภาวสัจ ความจริงโดยสภาวะ คือความจริงที่เป็นจริง ซึ่งได้มาจากการค้นคว้าวิจัย ทดลองจนสามรถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น
          ๓. อันติมสัจ ความจริงขั้นสุดท้าย หมายถึงความจริงที่ได้วิเคราะห์จนถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรจริงยิ่งไปกว่านั้น
          ๔. อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐทำให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากกองกิเลสทั้งหลายกลายเป็นหระอริยเจ้า

อริสัจข้อที่ ๑ ทุกข์
  • คำว่า "ทุกข์" นี้ ตามความหมายทั่วไป ก็หมายถึงความทุกข์มาน ความเจ็บปวดความโศกเสร้า เสียใจ แต่คำว่าทุกข์ใน
  • อริยสัจข้อที่ ๑ นี้ เป็นความทุกข์ที่แฝงทัศนะทางพุทศาสนาเกี่ยวกับชีวิตและโลกเอาไว้ ย่อมมีความหมายทางปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่า เป็นที่ยอมรับกันว่า คำว่า ทุกข์ ในอริยสัจ ข้อที่ ๑ นั้น รวมถึงความหมายของทุกข์ตามปรกติธรรมดา เช่น ทุกข์ทรมาน ความเจ็บ ปวด เข้าไว้ด้วย และรวมถึงความคิดที่ลึกซึ้งเข้าไปด้วยกันด้วย เช่น ความไม่แน่นอน ความว่างเปล่า ความไม่สมหวัง ความไม่มีแก่นสาร เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสทุกข์ไว้ในธรรมจักกัปปวัตนสูตร ตอนที่ว่าด้วยอริยสัจได้แบ่งทุกข์ออกเป็น ๒ ประการคือ
    • ๑. สภาวทุกข์ ทุกประจำ ได้แก่ ความเกิด ความแก่ และความตาย เป็นทุกข์
    • ๒. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร ได้แก่ ความเศร้าโศก เสียใจ ร่ำไห้ รำพัน ความผิดหวัง เป็นทุกข์
  • อริยสัจข้อที่ ๒ สมุทัย สมุทัย คือ เหตุเกิดทุกข์ อันเกิดจากตัณหาคือ ความอยากที่มุอยู่ในจิตใจของแต่ละคนทำให้คนเกิดทุกข์ในขณะที่ลีทธิต่าง ๆสอนว่า ความทุกข์นั้นเกิดจากพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ บันดาลให้มนุษย์เป็นไปต่าง ๆ กัน แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้ไปที่ตัณหา คือความอยากเท่านั้นว่าทำให้คนเกิดทุกข์ 
ตัณหา ๓ ได้แก่
    • ก. กามตัณหา อยากได้กามคุณ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จัดเป็นกามตัณหา
    • ข. ภวตัณหา อยากได้ในภาวะของตัวตนที่จะได้จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
    • ค. วิภวตัณหา อยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น เช่นอยากหนีภาวะที่คับแค้น
  • อริยสัจข้อที่ ๓ นิโรธ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ การสละ การสลัดออก ความดับทุกข์ ได้แก่ นิพพานนั่นเอง คำนิยามของ นิพพาน หมายถึง การดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหา ความว่า ความปล่อยวาง ความไม่อาลัย "ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืออุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ คือ นิพพาน"
  • อริยสัจข้อที่ ๔ มรรค มรรค แปลว่า หนทาง หมายถึงข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มรรคนี้เป็นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา เพราะมีทางปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปคือ
    • ๑.ประเภทที่หย่อนเกินไป ร่างกายและจิตใจหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกามารมณ์ เรียนว่า กามสุขัลลิกานุโยค
    • ๒. ประเภทที่ตึงเกินไป มีการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก ทุกข์ทรมานอย่างหนักเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
  • การบำเพ็ญทั้งสองวิธีนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงทดลองมาแล้วตอนบำเพ็ญทุกรกิริยาก่อนตรัสรู้ เมี่อทดลองจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่พ้นทุกข์จึงได้ค้นพบวิธีปฏิบัติใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่หย่อนเกินไป และไม่ตึงเกินไป เป็นการปฏิบัติอยู่ในสายกลาง ทางสายกลางนี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
    • ๑. ความเห็นชอบ
    • ๒. ความดำริชอบ
    • ๓. การเจรจาชอบ
    • ๔. การงานชอบ
    • ๕. เลี้ยงชีพชอบ
    • ๖. พยายามชอบ
    • ๗. ระลึกชอบ
    • ๘. ตั้งใจชอบ
  • อริยสัจทั้ง ๔ ประการนี้ ถือว่าเป็นหลักคำสอนที่คลุมธรรมทั้งหมด โดยเฉพาะทางสายกลางทั้งหมดนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงสายกลางนี้ตลอดมาเป็นระยะเวลานาน แก่บุคคลหลายประเภทที่แตกต่างกัน ตามกำลังสติปัญญาและความสามารถของแต่ลบุคคลที่จะเข้าใจและปฏิบัติตามพระองค์ได้การปฏิบัติตามมรรค ๘ ประการ หรือทางสายกลางนี้ต้องทำให้เกี่ยวเนื่องกันครบทุกข้อ แต่ละข้อเป็นทางปฏิบัติที่สัมพันธ์กัน มรรคทั้ง ๘ ประการนี้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การอบรมฝึกฝนตนตามหลักสูตรของพระพุทธศาสนาซึ่งมีสาระอยู่ ๓ ประการ คือ
    • ก. การประพฤติตามหลักจรรยา (ศีล)
    • ข. การฝึกฝนอบรมทางใจ (สมาธิ)
    • ค. การให้เกิดความรู้อย่างแท้จริง (ปัญญา)
หลักการรู้อริยสัจ ๔ 
  • การรู้อริยสัจนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการรู้ที่แน่นอนตายตัว การรู้อริยสัจที่ถือว่าจบเกณฑ์นั้น จะต้องรู้ ๓ รอบ รู้ในญาณทั้ง ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เรียกว่า ปริวัติ ครั้งละ ๔ รวมเป็น ๑๒ ครั้งดังนี้
    • รอบที่ ๑ สัจจญาณ คือรู้ว่า
      • ๑. ทุกข์มีจริง ชีวิตคลุกเคล้าด้วยควมทุกข์จริง
      • ๒. สมุทัย เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง
      • ๓. นิโรธ ความดับทุกข์มีจริง
      • ๔. มรรค เป็นทางไปสู้ความดับทุกข์จริง
    • รอบที่ ๒ กิจจญาณ คือรู้ว่า
      • ๑. ทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้
      • ๒. สมุทัย เป็นสิ่งที่ควรละ
      • ๓. นิโรธ ความดับทุกข์ควรทำให้แจ้งขึ้นในใจ
      • ๔. มรรค ควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้น
    • รอบที่ ๓ กตญาณ คือรู้ว่า
      • ๑. ทุกข์ เราได้กำหนดรู้แล้ว
      • ๒. สมุทัย เราได้ละแล้ว
      • ๓. นิโรธ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
      • ๔. มรรค เราได้บำเพ็ญให้เกิดมีครบถ้วนแล้ว