วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เรื่องที่ 2 สมาธิ


สมาธิ

  • สมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต ได้แก่ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป ศาสนาพุทธเน้นในสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ในทางแห่งการหลุดพ้น โดยใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง ไม่ใช่การหวังผล สนองตัณหาความอยาก เช่น อวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น

สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
    • ขณิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วครู่ ชั่วขณะหนึ่ง เป็นสมาธิขั้นต้นที่บุคคลทั่วไปใช้ในการปฎิบัติหน้าที่ในการงานประจำวัน
    • อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่ตั้งได้นานหน่อย ใกล้ที่จะได้ฌาน เกิดนิมิตต่างๆ เช่นเห็นแสงสว่างอยู่ระยะหนึ่ง
    • อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิแน่วแน่ถึงฌาน เป็นการทำสมาธิขั้นสูงสุด
  • สมาธิใช้สำหรับปราบกิเลสอย่างกลาง ที่จำเพาะเกิดขึ้นในใจคือนิวรณ์ 5 เมื่อกายวาจา สงบเรียบร้อยแล้ว แต่บางทีจิตยังไม่สงบ คือยังมีความกำหนัด ความโกรธ ดีใจ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัวรำคาญ หรือสงสัย ลังเลอยู่ อาจล่วงถึงกายวาจาได้ เช่น สีหน้าผิดปกติ เมื่อกระทบอารมณ์ รุ่นแรงเข้า ก็ถึงออกปาก ด่าว่าทุบตี ฆ่าฟัน เป็นต้น
  • ศีลมีหน้าที่ตั้งจิต งดเว้นไม่ทำบาปด้วย กาย วาจา สมาธิมีหน้าที่รักษาจิต ให้สงบจากนิวรณ์ทั้งห้า มิให้เศร้าหมอง เพราะความกำหนัด ขัดเคือง ใจหดหู่ ฟุ้งซ่าน ตื่นเต้น กลัว รำคาญ และสงสัย ลังเล ในอารมณ์ ต่างๆ เหล่านั้น นิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5 
  • คือธรรมอันกั้นจิต ไม่ให้บรรลุความดี เป็นข้าศึกแก่สมาธิ มี 5 อย่างคือ
    • กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมี รูป หรือความพอใจในกาม
    • พยาบาท คือ การปองร้ายผู้อื่น
    • ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงา หาวนอน จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม
    • อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
    • วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย
  • นิวรณ์นั้นเป็นข้าศึกแก่สมาธิ เวลามีนิวรณ์ สมาธิก็ไม่มี เวลามีสมาธิ นิวรณ์ก็ไม่มี เหมือนมืดกับสว่าง เวลามืดสว่างไม่มี เวลาสว่างมืดก็หายไป จะนำมารวมกันไม่ได้
  • นิวรณ์เกิดจาก สัญญา : ความจำได้หมายรู้ และจาก สังขาร   ความปรุงแต่งทางจิตบางอย่างเข้ามายั่วยวนให้เกิด นิวรณ์เกิดขึ้นที่จิตเพียงแห่งเดียว แต่มีผลต่อแห่งอื่นๆ 
  • สาเหตุที่เกิดนิวรณ์ คนมีตาหูจมูก ลิ้น กายใจ ก็ต้องมองเห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น เมื่อตาเห็นรูป ก็จะเลือกดู แต่รูปที่ดี จะต้องคิดนึกถึงรูปปานกลาง และรูปเลวด้วย 
  • คือต้องนึกถึงไตรลักษณ์ เป็นหลักพิจารณาอยู่เสมอ จะได้ไม่หลง ถ้าจะให้จิตอยู่ในอารมณ์ พระนิพพานอยู่เสมอ เมื่อเห็นอะไรก็ต้องพิจารณาให้เข้าสู่ไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา แม้เกี่ยวกับการได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน 
  • การเพ่งสมาธิวิปัสสนา ให้เพ่งพระพุทธรูป (พุทธานุสสติ) กายคตสติ อสุภ ดีที่สุด เมื่อเพ่งจนเกิดสมาธิแล้วก็พิจารณาไปสู่พระไตรลักษณ์ 
  • หรืออีกวิธีคือ ความยินดีพอใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งปวงอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกสมมติกันว่าเป็นสุข แต่พระอริยะเจ้าเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นทุกข์ การยินดีในสุภนิมิต เช่นนี้เรียกว่า กามฉันท์
  • ผู้มีกามฉันท์ นี้ควรเจริญ กายาคตาสติ พิจารณาเห็นร่างกายให้เห็นเป็นปฏิกูล
  • พยาบาทเกิดขึ้น เพราะความคับแค้นใจ ผู้มีพยาบาท ชอบโกรธเกลียดผู้อื่นอยู่เสมอๆ ควรเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา คิดให้เกิดความรัก เมตตาสงสารผู้อื่น
  • ผู้มีความเกียจคร้าน ท้อแท้อยู่ในใจ ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน เรียกว่าถูกถีนมิทธะครอบงำ ควรเจริญอนุสสติกัมมัฎฐาน พิจารณาความดีของตนและผู้อื่น เพื่อจะได้มีความอุตสาหะ ทำงานแก้ความท้อแท้ใจ เสียได้
  • ความฟุ้งซ่าน รำคาญ เกิดจากการที่จิตไม่สงบ ควรเพ่งกสิณให้ใจผูกอยู่ในอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง หรือเจริญกัมมัฏฐานให้ใจสังเวชเช่น มรณสติ
  • ความลังเลไม่ตกลงได้ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อจะได้รู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง
  • ธรรมทั้ง 5 ประการนี้เมื่อเกิดกับผู้ใด ย่อมจะเป็นธรรมอันกั้นจิตไม่ให้ผู้นั้นบรรลุความดีหรือสิ่งที่ตนประสงค์ได้ ฉะนั้นผู้หวังความสำเร็จในชีวิตควรเว้นจากนิวรณ์ 5 ประการนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น